ซัดต้ม ประเพณีน่าชมของพัทลุง

หน้าแรก ย้อนกลับ ซัดต้ม ประเพณีน่าชมของพัทลุง

ซัดต้ม ประเพณีน่าชมของพัทลุง

ที่มา: https://bit.ly/40ZmwwA

ซัดต้ม ประเพณีน่าชมของพัทลุง

 

          เมื่อเวลาล่วงเลยมากว่า 3 เดือน นับตั้งแต่ที่พระภิกษุสงฆ์เริ่มจำพรรษาที่วัด วันสำคัญของชาวไทยพุทธอีกหนึ่งวันก็มาถึง นั่นคือ “วันออกพรรษา” วันที่พระสงฆ์ได้มารวมตัวกันพูดคุย ว่ากล่าวตักเตือน ชี้แนะแนวทาง หรือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอย่างเท่าเทียม หลังจากจำพรรษาในวัดตลอด 3 เดือน ชาวไทยพุทธทั่วไปมักจะเดินทางไปทำพิธีสำคัญอย่างการตักบาตรเทโว การตักบาตรเพื่อระลึกถึงเหตุการณ์ที่พระพุทธเจ้าเสด็จกลับมาจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เรียกได้ว่าในวันออกพรรษาแทบจะทุกจังหวัด ชาวไทยพุทธก็จะไปร่วมพิธีนี้กันในบริเวณใกล้เคียง โดยภาคใต้จะมีประเพณีที่มีชื่อเสียงของชาวใต้ เรียกว่า “ลากพระ” เพิ่มมาในแต่ละจังหวัดด้วย ทว่ามีหนึ่งจังหวัดที่นอกจากจะมีการลากพระแบบจังหวัดอื่น ๆ แล้ว ยังมีอีกประเพณีที่จะมีขึ้นในวันออกพรรษา โดยจะมาในรูปแบบของการละเล่นพื้นบ้าน ที่เปี่ยมไปด้วยความสนุกสนาน ความตื่นเต้น และการสานสัมพันธ์ของคนในพื้นที่ ประเพณี “ซัดต้ม” ณ จังหวัดพัทลุง

          ประเพณีซัดต้ม ว่ากันว่าจัดขึ้นในบางตำบลของจังหวัดพัทลุง เช่น ตำบลตำนาน ตำบลชะรัด ตำบลท่าแค และตำบลร่มเมือง เป็นต้น เคยถูกบรรจุเป็นกีฬาที่ใช้แข่ง “อบจ.คัพ” ในปี 2559 และ “ท้องถิ่นสัมพันธ์เกมส์” ในปี 2560 ที่พัทลุงอีกด้วย แต่ในปัจจุบันกลับกลายเป็นประเพณีที่หาชมได้ยาก จะมีจัดขึ้นในวัดบางแห่งที่ยังคงจัดประเพณีนี้อยู่ และหากจะให้เล่าต้นกำเนิดของการซัดต้มแล้ว ก็มีหนึ่งเรื่องเล่าที่มักจะได้ยินบ่อยครั้งยามพูดถึงประเพณีนี้ นั่นคือเรื่องราวเหตุการณ์ที่พระพุทธเจ้าเสด็จกลับมาจากการโปรดพระมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เราคงจะได้ยินเรื่องนี้มาจนคุ้นหู เพราะเป็นเรื่องที่อยู่คู่กับวันออกพรรษา อีกทั้งยังเป็นเรื่องที่นำไปสู่ประเพณีสำคัญอย่างการตักบาตรเทโว แล้วต้นกำเนิดของการตักบาตรเทโวเกี่ยวโยงกันกับการซัดต้มอย่างไร จุดเชื่อมโยงของสองประเพณีนี้คือตอนที่พระพุทธเจ้าเสด็จกลับมายังโลกมนุษย์ มีชาวพุทธเป็นจำนวนมากเดินทางไปถวายภัตตาหารหรือใส่บาตรพระพุทธเจ้า แต่ด้วยจำนวนคนมากมายมหาศาลทำให้มีเพียงแค่บางส่วนที่ได้ใส่บาตร ส่วนคนอีกจำนวนมากก็พยายามหาหนทางเพื่อให้ได้ใส่บาตร จนได้ความคิดที่นำใบไม้มาห่ออาหารเอาไว้ แล้วทำการโยนอาหารนั้นให้ลงบาตรของพระพุทธเจ้า อาหารที่ห่อไว้นี้ก็จะเรียกกันว่า “ต้ม” โดยคนที่โยนต้มนั้นถือว่านี่เป็นการทำบุญ เพราะไม่ได้มีเจตนาในทางอกุศลแต่อย่างใด ลูกต้มบางลูกก็ลงในบาตร แต่บางลูกกลับโดนคนที่ไปใส่บาตรด้วยกันก็มี และเหตุการณ์ใส่บาตรด้วยการโยนต้มครั้งนี้ก็นำมาซึ่งการละเล่นที่กลายเป็นประเพณี “การซัดต้ม” ของพัทลุงตราบจนทุกวันนี้

          ประเพณีการซัดต้มนี้จะจัดขึ้นในวันออกพรรษาในช่วงเวลาหลังจากที่พระภิกษุฉันเพลแล้ว แต่ก่อนที่จะทำการแข่งขันกัน จะมีการทำลูกต้มเตรียมไว้ก่อน และขั้นตอนในการทำลูกต้มที่ใช้ซัดกัน มีดังนี้

                   - นำข้าวตากมาผสมกับทราย

                   - ห่อส่วนผสมทั้งสองอย่างเอาไว้ด้วยใบตาลหรือใบมะพร้าว โดยห่อให้ได้รูปทรง “ตะกร้อ”

                   - บางครั้งอาจใช้หวายมาสานเพิ่มอีกหนึ่งชั้นเพื่อเสริมความทนทาน

                   - เสร็จแล้วนำลูกต้มไปแช่น้ำ และรอจนข้าวตากพองได้ที่เพื่อให้ได้น้ำหนักที่พอเหมาะ

                     เพียงเท่านี้ก็จะได้ลูกต้มที่พร้อมจะปาใส่คู่แข่งแล้ว

          ทั้งนี้ปัจจุบันมีการนำเส้นพลาสติกมาใช้แทนใบตาลหรือใบมะพร้าวด้วย เนื่องด้วยความสะดวกและคงทน เมื่อมีลูกต้มแล้วก็จัดพื้นที่สำหรับการแข่งขัน โดยจะใช้พื้นที่ที่มีความกว้าง อย่างในวัดก็อาจเป็นลานวัดโล่ง ๆ แล้วจัดเวทีเล็ก ๆ สูงราว 1 เมตร จำนวน 2 เวที ซึ่งจัดไว้คนละฝั่ง ระยะห่างจากฝั่งหนึ่งไปอีกฝั่งหนึ่งราว 10 เมตร จากนั้นก็ทำการจับคู่เพื่อแข่งขัน การจับคู่นี้อาจจะจัดให้คนฝีมือระดับเดียวกันมาแข่งขันกันเอง เมื่อจับคู่ได้แล้ว ต่างฝ่ายต่างเดินขึ้นไปประจำบนเวทีฝั่งของตน บนเวทีจะมีลูกต้มวางอยู่ประมาณ 20-30 ลูก เมื่อทั้งสองฝ่ายเข้าประจำที่แล้วก็จะเริ่มการแข่งขัน กติกาคือให้แต่ละฝ่ายซัดลูกต้มให้โดนร่างกายของฝ่ายตรงข้ามให้ได้มากที่สุด  โดยทั้งสองฝ่ายจะสลับกันซัดจนลูกต้มหมด ฝ่ายใดสามารถซัดต้มโดนร่างกายฝ่ายตรงข้ามได้มากที่สุดก็จะเป็นฝ่ายที่ชนะไป  สำหรับผู้เข้าแข่งขันเรียกได้ว่าต้องมีความกล้า สมาธิ ความแม่นยำ และไหวพริบเป็นเลิศ เพราะลูกต้ม  มีน้ำหนักชนิดที่ว่าถ้าโดนซัดใส่อย่างเต็มแรงแล้วก็อาจถึงขั้นเลือดออกได้เลย ดังนั้นความสนุกของประเพณีนี้คือ การที่ต่างฝ่ายต่างใช้ทักษะในการหลบหลีกลูกต้มของอีกฝ่าย ขณะเดียวกันก็ต้องรวบรวมสมาธิแล้วซัดลูกต้มในมือให้โดนฝ่ายตรงข้ามมากที่สุดเท่าที่จะทำได้เพื่อคว้าชัยชนะมาครอบครอง

          เมื่อการแข่งขันจบลง ผู้ชนะก็อาจได้รับรางวัลเล็ก ๆ น้อย ๆ ไปเชยชม ส่วนผู้แพ้ก็กลับไปฝึกฝนฝีมือเพื่อหวังว่าการกลับมาในครั้งหน้าจะสามารถคว้าชัยชนะมาครองได้ ต่างฝ่ายต่างแยกย้ายกันกลับบ้านของตน ถือเป็นอันเสร็จสิ้นประเพณีซัดต้ม แม้ว่ารูปแบบประเพณีอาจจะดูเป็นการแข่งขันชิงดีชิงเด่นเพื่อคว้าชัย ทว่าสิ่งที่ทำให้พวกเขามาเข้าร่วมนั้นไม่ใช่เพื่อชัยชนะหรือรางวัลเป็นสำคัญ หากแต่เป็นการได้พบปะกับญาติสนิทมิตรสหาย ทำบุญตักบาตร ฟังธรรมในวันออกพรรษาร่วมกัน ถามไถ่สารทุกข์สุกดิบยามทานข้าวพร้อมหน้าหลังพระภิกษุฉันเพลเสร็จ และประลองฝีมือกันให้พอมีเรื่องได้คุยกันสนุกแบบพอหอมปากหอมคอในการซัดต้ม บรรยากาศอันน่าอบอุ่นหัวใจนี้เอง ที่ทำให้ชาวไทยพุทธในจังหวัดพัทลุงบางส่วนยังคงสืบสานประเพณีการซัดต้มต่อไป ถึงมันอาจจะหาได้ยากและไม่ได้เป็นประเพณีที่รู้จักกันทั่วสารทิศ แต่สำหรับคนที่ยังคงไปเข้าร่วมอยู่ “ซัดต้ม” อาจเป็นช่องทางการสานสัมพันธ์และสร้างความทรงจำอันล้ำค่าของพวกเขาก็เป็นได้

 

 

 

ประเพณีไทยดอทคอม. (ม.ป.ป.). ซัดต้ม. https://bit.ly/408DisJ

วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. (2565). วันออกพรรษา. https://bit.ly/3Drg1bN

เทศบาลเมืองทุ่งสง. (ม.ป.ป.). ซัดต้ม. https://bit.ly/3HCn1Fm

องค์การบริหารส่วนจังหวัดพัทลุง. (2559). โปรแกรมการแข่งขันกีฬาซัดต้ม. https://bit.ly/3Js2yEq

องค์การบริหารส่วนจังหวัดพัทลุง. (2560). ระเบียบการแข่งขันกีฬาสัมพันธ์ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

ในจังหวัดพัทลุง ครั้งที่ 5 ประจำปี 2560. https://bit.ly/3HEkKt4

MGR Online. (2560). หนึ่งเดียวที่ “เมืองลุง” ประเพณี “ซัดต้ม” ที่จัดขึ้นในวันออกพรรษา.

https://bit.ly/3JoBA0G

 

 

 

แชร์ 780 ผู้ชม

ประเพณี พิธีกรรม

องค์ความรู้